Tuesday, June 30, 2009

เคยได้ยินไหม… คาร์บอนไดออกไซด์ทำให้หูปลาใหญ่ขึ้น

เชื่อหรือไม่ คาร์บอนไดออกไซด์ในทะเลส่งผลประหลาดต่อปลา ทำให้หูของพวกมันใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น..

ภาพ: white sea bass (กระพงขาว) ตัวนี้มีอายุประมาณ 3-4 เดือน เมื่อย้ายลงน้ำที่มีความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์สูงพบว่ากระดูกหูของตัวอ่อน sea bass มีขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่จะเล็กลงตามที่คาดไว้ นักวิทย์จึงให้ความเห็นว่าสภาพน้ำทะเลที่เป็นกรดอาจมีผลกับตัวอ่อนปลาแบบคาดไม่ถึง
เชื่อไม่เชื่อคงต้องลองดูหูของพวกมันแล้วล่ะครับ แต่ทว่าหูของมันกลับอยู่ในตัวนี่สิครับ อย่างไรก็ตามแม้ตำแหน่งจะอยู่ต่างกันกับของเราแต่หูปลาก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับเราครับ หูปลามีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้การเคลื่อนไหวและทำให้พวกมันตั้งตัวตรงได้ ทั้งหมดนี้ล้วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน
นักสมุทรศาสตร์ David M. Checkley จากสถาบันสมุทรศาสตร์ Scripps มหาวิทยาลัยแคลฟอร์เนีย ซานดิเอโก รายงานว่า การค้นพบนี้น่าประหลาดอย่างยิ่ง ปลาที่ได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าร่างกายจะเกิดอาการผิดปกติขึ้น มีผลเสียต่อการดำรงชีวิต
โครงสร้างของหูปลานั้นรู้จักกันดีในชื่อว่า otolith (กระดูกหู) สร้างขึ้นจากแร่ธาตุชนิดต่างๆ Checkley และคณะทราบดีว่าการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในทะเลเนื่องจากได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มาจากอากาศนั้นส่งผลทำให้สภาพท้องทะเลเป็นกรดมากขึ้นซึ่งสามารถทำให้เปลือกปลาอ่อนตัวลงหรือละลายได้ ทีมของ Checkley จึงสงสัยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ otolith ลดขนาดลงไปด้วยหรือไม่
ทีมวิจัยได้ทดลองบ่มไข่ white sea bassไว้ในน้ำทะเลแล้วลองวัดขนาด otolith เมื่อปลามีอายุได้ 7-8 วัน
การทดลองนี้ใช้น้ำที่มีความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์แตกต่างกัน กลุ่มหนึ่งให้น้ำที่มีความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า 6 เท่าของน้ำทะเลปกติ แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้ามกับที่ทีมของ Checkley คิดไว้ครับคือปลาที่อยู่ในน้ำสภาพนี้กลับมี otolith ใหญ่กว่าปกติประมาณ 15-17% ทีมของ Checkley จึงทำการทดลองซ้ำอีกครั้งและผลที่ได้ก็เป็นดังเดิมครับ
ดังนั้นทีมวิจัยจึงลองทดลองต่อโดยลดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้เหลือประมาณ 3.5 เท่าของความเข้มข้นปกติ ซึ่งเป็นความเข้มข้นที่อาจเกิดขึ้นจริงก่อนปี 2100 พบว่าปลาที่อาศัยอยู่ที่ความเข้มข้นนี้มีกระดูกหูใหญ่กว่าปลาที่อาศัยในน้ำปกติ 7-9%
Checkley กล่าวว่า การค้นพบนี้มีค่ามาก เพราะทำให้ทราบว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศและในน้ำมีผลอย่างไรต่อสิ่งมีชีวิต เพราะนอกเหนือจากที่ทราบว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการทำให้เกิดโลกร้อนและทำให้น้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีผลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของสัตว์น้ำอีกด้วย
การค้นพบใหม่นี้ สร้างความประหลาดใจให้ผู้ค้นพบ เป็นตัวผลักดันให้ Checkley เกิดคำถามต่าง ๆ ตามมาและพร้อมที่จะสำรวจต่อไป…
ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังสำรวจว่าเหตุใดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในน้ำจึงทำให้กระดูกหูของปลาใหญ่ขึ้น และเหตุการณ์นี้เกิดแบบเดียวกันในปลาชนิดอื่นหรือไม่และผลจากการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ระยะยาวจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อปลากันแน่
หากปลาสามารถปรับตัวให้เข้ากับ otolith ที่ใหญ่ขึ้นได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม…ปลาได้มีวิวัฒนาการให้เป็นแบบที่มันเป็น คาดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้น่าจะรบกวนหน้าที่ของ otolith ที่ช่วยให้ปลาอยู่ในสภาพตั้งตรงได้ ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน
นอกเหนือจากผลที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีข้อมูลว่าปลามีอาการเฉื่อยชาเกิดขึ้น ซึ่งต้องได้รับการยืนยันต่อไป

ที่มา: http://www.msnbc.msn.com/id/31548469/ns/technology_and_science-science/
อ้างอิง: http://www.tchain.com/otoneurology/disorders/bppv/
Off Hroyy

No comments:

Post a Comment